บทความนี้เป็น ตอนที่ 2 จากทั้งหมด 4 ตอน สามารถอ่านตั้งแต่ต้นได้ที่ บทความนี้
บทความทั้งหมดในชุดนี้ มีดังนี้
- ประสิทธิภาพในการพัฒนาซอฟต์แวร์
- วัฒนธรรมองค์กร (บทความนี้)
- การผลิตซอฟต์แวร์แบบต่อเนื่อง
- การบริหารแบบลีน
ตอนที่ 2 - วัฒนธรรมองค์กร
ในบทความที่แล้ว ผมได้พูดถึงการที่ประสิทธิภาพในการพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้ ในบทความนี้ ผมจะพูดถึงอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถส่งผลต่อผลงานขององค์กร และยังสามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพในการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อีกด้วย
รูปที่ 1 - วัฒนธรรมองค์กรกับผลกระทบของมัน
จากรูปจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรเพียงเรื่องเดียวสามารถที่จะส่งผลถึงความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์และเป้าหมายขององค์กร ซึ่งก็เหมือนกับการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ต่อไป เราจะมาเรียนรู้แนวทางในการวัดระดับวัฒนธรรมองค์กร เพื่อที่เราจะใช้เปรียบเทียบผลการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรได้
วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร (ตามคำนิยามของหนังสือเล่มนี้)
หนังสือได้ใช้โมเดลของ เวสทรัม (Westrum model) ในการแบ่งประเภทของวัฒนธรรมองค์กร เพื่อที่เราจะสามารถจัดกลุ่มขององค์กรตามวัฒนธรรมได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- องค์กรแบบอำนาจนิยม มีลักษณะเด่น คือ ความร่วมมือระหว่างกันต่ำ ไม่โปร่งใส และพยายามหาผู้ผิดชอบเมื่อเกิดปัญหา
- องค์กรแบบราชการ มีลักษณะเด่น คือ มีความร่วมมืออยู่บ้าง แต่จะมีการแบ่งเป็นกลุ่มก้อนเป็นพรรคเป็นพวก และเน้นกฎระเบียบเป็นสำคัญ
- องค์กรแบบสร้างสรร มีลักษณะเด่น คือ มีความรู้มือกันสูง มีความโปร่งใส และสนับสนุนความคิดสร้างสรร
วัฒนธรรมองค์กรสามารถบอกอะไรเราได้
ผลการวิจัยพบว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นสามารถบอกถึงประสิทธิภาพในการพัฒนาซอฟต์แวร์และประสิทธิภาพขององค์กรได้ องค์กรที่มีลักษณะแบบสร้างสรรจะมีการส่งผ่านข้อมูลภายในองค์กรได้ดีกว่า ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนตามเหตุการณ์ได้รวดเร็วกว่าและส่งผลให้เป็นองค์กรที่มีผลงานที่ดี ประสิทธิภาพสูง ส่วนองค์กรที่มีลักษณะที่มักจะหาตัวผู้รับผิดชอบหากเกิดความผิดพลาด ทำให้ต้องเอาเวลาที่มีมาหาตัวผู้รับผิดชอบ แทนที่จะหาแนวทางป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำในอนาคต อีกทั้งยังทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม และนี่ก็จะนำไปสู่องค์กรที่มีประสิทธิภาพต่ำ หรือ มีผลงานที่ไม่ดี นั่นเอง
จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไร
มาถึงจุดนี้ เราได้รู้ว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นมีความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร แต่ปัญหาก็คือเราจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไร ซึ่งในการวิจัยนี้ก็ได้พบว่า แนวปฎิบัติแบบ ลีน (Lean) และ อไจล์ (Agile) นั้นสร้างผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรได้ โดยเฉพาะ การส่งมองซอฟต์แวร์แบบต่อเนื่อง (Continuous Delivery) และการบริหารงานแบบลีน (Lean Management) การค้นพบนี้ทำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรซึ่งเคยเป็นเรื่องที่เข้าใจและปฎิบัติได้ยาก ได้เปลี่ยนมาเป็นสิ่งที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งผมจะได้อธิบายในรายละเอียดในบทความต่อ ๆ ไป
สรุป
ในบทความนี้ เราได้เรียนรู้ว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นมีความสำคัญและสามารถที่จะวัดระดับได้ โดยเราสามารถใช้ลักษณะขององค์กรตามโมเดลเวสทรัมในการคาดคะเนประสิทธิภาพขององค์กร และที่สำคัญคือเราสามารถที่จะนำแนวปฎิบัติของลีนและอไจล์มาใช้เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งผมจะพูดถึงในบทความ ต่อไป